หนอนด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นในทุเรียน

nodyao

ขณะนี้พบต้นทุเรียนจำนวนมากมีอาการทรุดโทรม ใบร่วง กิ่งแห้ง และยืนต้นตาย จาการสำรวจในแหล่งปลูกทุเรียนทั่วประเทศ พบว่าปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุจากการทำลายของด้วงหนวดยาวชนิด ? ด้วงบ่าหนามจุดนูนดำ? (Bactocera rufomaculataDe Geer) การระบาดของแมลงศัตรูพืชชนิดนี้เกิดขึ้นและค่อยๆ สะสมความรุนแรงแบบภัยมืด โดยชาวสวนไม่ทราบว่ามีการระบาดของแมลงศัตรูดังกล่าว เนื่องจากหนอนด้วงหนวดยาวทำลายอยู่ภายใต้เปลือกต้นทุเรียนไม่สามารถสังเกตเห็นจากภายนอกได้

ลักษณะการทำลาย

ตัวเมียวางไข่ในเวลากลางคืนโดยบินมาเกาะต้นทุเรียนและไต่หาตำแหน่งที่เหมาะสมตามลำต้นและกิ่งขนาดใหญ่ ในสวนที่มีการระบาดรุนแรงพบหนอนด้วงหนวดยาววัยต่างๆ ในต้นทุเรียน เฉลี่ย 40-50 ตัวต่อต้น ตัวหนอนจะกัดกินชอนไชไปตามเปลือกไม้ด้านใน หรืออาจกัดควั่นเปลือกรอบต้น ขณะหนอนยังเล็กอยู่สังเกตแทบไม่เห็นร่องรอยการทำลาย แต่เมื่อหนอนโตขึ้นจะพบขุยไม้ละเอียดซึ่งเป็นมูลของหนอนบริเวณรอยทำลาย เกษตรกรจะสังเกตเห็นก็ต่อเมื่อหนอนโตและอาจเจาะเข้าเนื้อไม้ หรือกินควั่นรอบต้นทุเรียนแล้ว ซึ่งจะมีผลทำให้ท่อน้ำท่ออาหารถูกตัดทำลายเป็นเหตุให้ทุเรียนเริ่มทรุดโทรม ใบร่วง และยืนต้นตายได้ เนื่องจากตัวเต็มวัยมีอายุขัยยาว ทำให้ช่วงระยะเวลาการวางไข่นาน ในต้นหนึ่งๆ จึงพบไข่และหนอนระยะต่างๆ กันเป็นจำนวนมาก

การป้องกันกำจัด

  • หมั่นตรวจสวนเป็นประจำ โดยสังเกตรอยแผลจากการวางไข่และการทำลายของหนอนและเก็บทำลายเพื่อตัดวงจรการระบาด
  • ลดจำนวนหนอนโดยกำจัดตัวเต็มวัยด้วงหนวดยาว โดยใช้ไฟส่องในช่วงเวลา 19.00-24.00 น. หรือใช้ตาข่ายตาถี่พันหลวมๆ รอบต้นเพื่อดักจับตัวเต็มวัยทำลายทิ้ง
  • แหล่งที่มีการระบาดรุนแรงให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงชนิดดูดซึม เช่น อิมิดาโคลพริด 10 % เอสแอล อัตรา 30 มิลลิลิตร หรือ อเซทามิพริด 20% เอสพี อัตรา 30 กรัม หรือ ไธอะมีโทแซม 25% ดับบลิวจี อัตรา 40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร โดยใช้อัตราน้ำ 5 ลิตร/ต้น พ่นให้โชกเฉพาะบริเวณลำต้นและกิ่งขนาดใหญ่ 2 ครั้งห่างกัน 14 วัน ในแหล่งที่มีการระบาดรุนแรง อาจต้องพ่นสารทุกๆ 3 เดือน
  • กำจัดแหล่งขยายพันธุ์ โดยตัดต้นทุเรียนที่ถูกทำลายรุนแรงจนไม่สามารถให้ผลผลิตและเผาทิ้ง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมการระบาดทำความเสียหายต่อทุเรียนต้นอื่นต่อไป

โดย : ศรุต สุทธิอารมณ์ เกรียงไกร จำเริญมา กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช