จริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร (Publication Ehtics)

จริยธรรมในการตีพิมพ์สำหรับผู้เขียนต้นฉบับ

  1. ผู้เขียนต้องชี้แจงต่อ วารสารกีฎและสัตววิทยา ว่าต้นฉบับงานเขียนที่เสนอต่อวารสารฯ นั้นเป็นงานที่ผลิตขึ้นเอง และมีการอ้างอิงอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการดื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการโจรกรรมผลงานวิชาการของผู้อื่น (Plagiarism)
  2. ต้นฉบับของผู้เขียนนั้นต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นไม่ว่ากรณีใด ๆ
  3. กรณีที่มีผู้เขียนมากกว่า 1 คน การเรียงลำดับของผู้เขียนให้เป็นการตัดสินใจของผู้เขียนร่วมทุกคน และชี้แจงต่อบรรณาธิการให้ชัดเจน
  4. ผู้เขียนต้องไม่เสนอต้นฉบับซ้ำซ้อนกับวารสารวิชาการอื่นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่เสนอต่อวารสารกีฎและสัตววิทยา
  5. ผู้เขียนต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากบุคคลที่สามอย่างชัดเจนในการผลิตซ้ำเนื้อหาและรูปภาพ (text and image) ที่มีลิขสิทธิ์
  6. ผู้เขียนควรต้องระบุแหล่งทุนในการทำวิจัย (ถ้ามี) ให้ชัดเจนในต้นฉบับ
  7. กรณีที่อาจเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนในประเด็นเกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาที่จะตีพิมพ์ในวารสารกีฎและสัตววิทยา ไม่ว่ากรณีใด ๆ ผู้เขียนต้องระบุไว้ให้ชัดเจนด้วย
  8. ผู้เขียนควรต้องแจ้งต่อบรรณาธิการหากตรวจพบว่ามีความผิดพลาดในการตีพิมพ์ เพื่อให้ทางวารสารกีฎและสัตววิทยา ได้จัดพิมพ์แก้ไขเป็น erratum ก่อนเผยแพร่สู่สาธารณะ
  9. ผู้เขียนย่อมมีสิทธิที่จะร้องเรียนหรือขอคำชี้แจงจากบรรณาธิการเกี่ยวกับการตัดสินใจตีพิมพ์ผลงานต่าง ๆ

จริยธรรมในการตีพิมพ์สำหรับผู้ประเมินบทความ

  1. ผู้ประเมินบทความควรมีส่วนช่วยในการพัฒนาคุณภาพของบทความต้นฉบับโดยการประเมินต้นฉบับด้วยความใส่ใจ มีความเป็นกลาง และทำงานภายใต้กรอบเวลาที่เหมาะสม
  2. ผู้ที่ประเมินต้องแจ้งต่อบรรณาธิการทันทีหากมีข้อสงสัยว่าบทความที่ตนประเมินนั้นซ้ำซ้อนกับที่ได้ประเมินให้วารสารวิชาการอื่น หรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นการโจรกรรมผลงานทางวิชาการ
  3. ผู้ประเมินต้องชี้แจงกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในประเด็นเกี่ยวกับบทความที่ตนได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ประเมิน
  4. ผู้ประเมินต้องเคารพในข้อมูลลับของต้นฉบับตลอดกระบวนการประเมินบทความ

จริยธรรมในการตีพิมพ์ของกองบรรณาธิการวารสาร

  1. กองบรรณาธิการมีหน้าที่รับผิดชอบในกระบวนการจัดพิมพ์ของวารสารกีฎและสัตววิทยา เพื่อให้มีคุณภาพทางวิชาการสูงสุด และบรรณาธิการพร้อมที่จะแก้ไข้และชี้แจงข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการจัดพิมพ์ในกรณีต่าง ๆ
  2. กองบรรณาธการมีความเป็นกลางในการทำหน้าที่ โดยไม่แบ่งแยกความแตกต่างเรื่องเพศ เชื้อ ชาติ ศาสนา หรือความเชื่อทางการเมือง
  3. กองบรรณาธิการจะได้กำหนดแนวทางสำหรับผู้เขียน และผู้ประเมินบทความเกี่ยวกับหน้าที่ของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน
  4. กองบรรณาธิการมีการตัดสินใจในการเลือกตีพิมพ์บทความบนพื้นฐานของคุณภาพทางวิชาการและความเหมาะสมสำหรับวารสารกีฎและสัตววิทยา โดยปราศจากการแทรกแซงการตัดสินใจจากผู้อื่น
  5. กองบรรณาธิการมีคำอธิบายเกี่ยวกับกระบวนการตีพิทพ์บทความในวารสารกีฎและสัตววิทยาในเว็บไซต์ของวารสารอย่างชัดเจน
  6. กองบรรณาธิการมีการจัดการต้นฉบับบทควาทที่ได้รับเข้ามาอย่างเป็นธรรม ปราศจากอคติ ในกรอบเวลาที่เหมาะสม และการจัดการต้นฉบับทั้งหมดในทางลับ และส่งต่อให้บุคคลที่สามเพื่อเป้าประสงค์สำหรับการประเมินบทความแต่เพียงเท่านั้น
  7. กองบรรณาธิการจะสร้างระบบที่สร้างความเชื่อมั่นได้ว่าข้อมูลของผู้ประเมินบทความจะได้รับการคุ้มครอง
  8. ดุลยพินิจการพิจารณาบทความของกองบรรณาธิการ ผ่านระบบประเมินของวารสารกีฎและสัตววิทยาให้ถือเป็นที่สุด
  9. กองบรรณาธิการจะมีแนวทางในการส่งต่อข้อมูลให้กับกองบรรณาธิการคนใหม่เกี่ยวกับกระบวนการทำงานที่จำเป็นทั้งหมด และจะได้ชี้แจงให้สมาชิกในกองบรรณาธิการคนใหม่เกี่ยวกับกระบวนการทำงานที่จะเป็นทั้งหมด และจะได้ชี้แจงให้สมาชิกในกองบรรณาธิการได้ทราบเกี่ยวกับนโยบาย/หรือแนวทางในการทำงานใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
  10. กองบรรณาธิการจะมีระบบในการจัดการผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflicts of Interests) ของบรรณาธิการ กองบรรณาธิการ ผู้เขียนต้นฉบับ ตลอดจนผู้ประเมินบทความอย่างชัดเจน