หนอนกออ้อย ที่สำคัญที่พบเข้าทำลายอ้อย มี ๓ ชนิด คือ หนอนกอลายจุดเล็ก หนอนกอสีขาว และหนอนกอสีชมพู

หนอนกอลายจุดเล็ก

หนอน เจาะเข้าไปตรงส่วนโคนระดับผิวดิน เข้าไปกัดกินส่วนที่กำลังเจริญเติบโตภายในหน่ออ้อย ทำให้ยอดแห้งตาย การเข้าทำลายของหนอนกอลายจุดเล็กจะทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง ๕-๔๐% นอกจากนี้หนอนยังเข้าทำลายอ้อยในระยะอ้อยย่างปล้อง โดยหนอนเจาะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในลำต้นอ้อย ซึ่งทำให้อ้อยแตกแขนงใหม่ และแตกยอดพุ่ม

หนอนกอสีขาว

หนอน เจาะไชจากส่วนยอดเข้าไป กัดกินยอดที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ยอดแห้งตายโดยเฉพาะใบที่ยังม้วนอยู่ ส่วนใบยอดอื่นๆ ที่หนอนเข้าทำลายจะมีลักษณะหงิกงอ และมีรูพรุน เมื่ออ้อยมีลำแล้วหนอนจะเข้าทำลายส่วนที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ไม่สามารถสร้างปล้องให้สูงขึ้นไปได้อีก ตาอ้อยที่อยู่ต่ำกว่าส่วนที่ถูกทำลายจะแตกหน่อขึ้นมาทางด้านข้าง เกิดอาการแตกยอดพุ่ม

หนอนกอสีชมพู

หนอน เจาะเข้าไปกัดกินตรงส่วนโคนของหน่ออ้อยระดับผิวดิน เข้าไปกัดกินส่วนที่กำลังเจริญเติบโตภายในหน่ออ้อย ทำให้ยอดแห้งตาย ถึงแม้ว่าหน่ออ้อยที่ถูกทำลายจะสามารถแตกหน่อใหม่เพื่อชดเชยหน่ออ้อยที่เสีย ไป แต่หน่ออ้อยที่แตกใหม่จะมีอายุสั้นลง ทำให้ผลผลิตและคุณภาพของอ้อยลดลง

การป้องกันกำจัด

๑. ในแหล่งชลประทาน ควรให้น้ำเพื่อให้อ้อยแตกหน่อชดเชย

๒. ปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา อัตรา ๓๐,๐๐๐ ตัว/ไร่/ครั้ง ปล่อยติดต่อกัน ๒-๓ ครั้ง ใช้ช่วงที่พบกลุ่มไข่ของหนอนกอ

๓. เมื่ออ้อยอายุ ๑ เดือน หรือเมื่ออ้อยแสดงอาการยอดเหี่ยว ๑๐% ควรพ่นสารเดลทาเมทริน ๓% อีซี อัตรา ๑๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร พ่น ๒-๓ ครั้ง ห่างกัน ๑๔ วัน

๔. พ่นสารอินด๊อกซาคาร์บ ๑๕% อีซี อัตรา ๑๕ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือสารคลอ แรนทรานิลิโพรล ๒๐% เอสซี อัตรา ๒๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ สารลูเฟนนูรอน ๕% อีซี อัตรา ๒๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร พ่นเมื่อพบการระบาดของหนอนกออ้อยและทำให้อ้อยแสดงอาการยอดเหี่ยวมากกว่า ๑๐% พ่นโดยใช้น้ำ ๖๐ ลิตรต่อไร่