โครงการค่ายเยาวชน “รู้รักษ์ รู้ค่า ไพรพนาป่าเขา” ครั้งที่ 14
จัดโดย
สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจาก
พระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
23-24 สิงหาคม 2565
ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว นครราชสีมา
________________________________________

1.หลักการและเหตุผล
สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย มีนโยบายจัดกิจกรรมโครงการเพื่อเยาวชนและสังคมมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีโครงการนี้มุ่งเน้นให้เยาวชนได้เรียนรู้เพื่อเปิดโลกทัศน์ และเสริมสร้างประสบการณ์ตรง โดยการให้ได้มีโอกาสร่วมทำกิจกรรม รู้เห็นด้วยตาและมือปฏิบัติ ในปี 2565 นี้ สมาคมฯ ได้จัดหลักสูตรค่ายเยาวชนร่วมกับศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.คลองไผ่) ในชื่อค่าย “STEM แรงบันดาลใจจากการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สู่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”เพื่อรูปแบบใหม่ของกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน ด้วยการบูรณาการความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย สร้างเป็นแรงบันดาลใจสู่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ ที่สามารถจะนำมาใช้ในวิชาเรียนปกติหรือประยุกต์ใช้สำหรับการดำเนินชีวิตประจำวัน นักเรียนจะได้รับความรู้ ความเข้าใจ การวางแผนและแก้ไขปัญหาที่ใช้กระบวนการคิดแบบเชิงวิศวกรรม เพิ่มศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์แบบไร้ขีดจำกัด ฝึกฝนการคิดเชิงวิเคราะห์ และในค่ายดังกล่าวนี้ สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทยได้เพิ่มฐานความรู้ให้แก่เยาวชนในเรื่องแมลงและสัตว์ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัว ให้ทราบคุณและโทษ การอยู่ร่วมกัน การล่า สมดุลธรรมชาติและความสัมพันธ์ระหว่างพืช
แมลงและสัตว์โดยได้นำนักวิชาการด้านกีฏวิทยาและสัตววิทยาจัดตั้งฐานเรียนรู้เพิ่มเติมอีก 2 ฐาน ได้แก่ ฐานเรียนรู้โลกของแมลงและสัตว์ และ แมลงผสมเกสร ผึ้งและชันโรง รวมทั้งกิจกรรมศึกษาแมลงจากกับดักแสงไฟและการศึกษาธรรมชาติยามเช้าโดยใช้กล้องส่องทางไกล
2. วัตถุประสงค์  เพื่อให้นักเรียนมีกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักถึงคุณค่าของป่าเขา พืชพรรณ สมุนไพร แมลง-สัตว์และสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติมีกระบวนการเรียนรู้ที่บูรณาการมาจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งการเห็นด้วยตาและปฏิบัติด้วยมือ สามารถนำมาใช้ในวิชาเรียนปกติหรือประยุกต์ใช้สำหรับการดำเนินชีวิตประจำวันได้
3. สถานที่ ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว นครราชสีมา
4. กลุ่มเป้าหมาย นักเรียนชั้นประถมปีที่ 5 และ 6 จำนวน 120 คน จากโรงเรียนในตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา 10 โรงเรียน
5. วิธีดำเนินการ ให้นักเรียนเรียนรู้โดยรับฟังการบรรยายและลงมือปฏิบัติในฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ ได้แก่
ฐานที่ 1 เรียนรู้เรื่องธรรมชาติให้สี และการฟอกย้อม
ฐานที่ 2 เรียนรู้เรื่องธรณีวิทยาและเควสตาโคราช
ฐานที่ 3 เรียนรู้เรื่องพฤกษศาสตร์และการเก็บตัวอย่างพรรณไม้
ฐานที่ 4 เรียนรู้เรื่องเครื่องดื่มชาสมุนไพร
ฐานที่ 5 เดินป่าสำรวจสัตว์-แมลงหน้าดินในป่าดิบแล้ง
ฐานที่ 6 กิจกรรมขยายพันธุ์พืช
ฐานที่ 7 เก็บดอกไม้ริมรั้วทำ herbarium ถนอมดอกไม้ในน้ำมัน
ฐานที่ 8 เรียนรู้โลกของแมลง-สัตว์
ฐานที่ 9 แมลงผสมเกสร : ผึ้งและชันโรง
ฐานที่ 10 การเรียนรู้เกษตรปลอดภัย และการทำสลัดโรล
ฐานที่ 11 จากใบหม่อนสู่ผ้าไหม การเลี้ยงหนอนไหม เก็บหม่อน/ชิมหม่อน/น้ำสมุนไพรหม่อน
และร่วมในกิจกรรมเดินศึกษาธรรมชาติยามเช้า ส่องดูนกและพืชพรรณไม้ชนิดต่าง ๆ กิจกรรมการศึกษาธรรมชาติยามค่ำคืน เรียนรู้ชนิดแมลงกลางคืนจากกับดักแสงไฟ และดูดาว
6. ระยะเวลาดำเนินการ วันที่ 23-24 สิงหาคม 2565 (2 วัน 1 คืน)
7. งบประมาณ จำนวน 150,000 บาท
8. ผู้รับผิดชอบ สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ (อพ.สธ.คลองไผ่)อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
9. ผลที่คาดว่าจะได้รับ เยาวชนได้รับการเรียนรู้เกี่ยวกับ พืชพรรณไม้ สมุนไพรต่าง ๆ รู้จักชนิดของแมลงและสัตว์ในธรรมชาติ ที่มีทั้งคุณและโทษ โดยมีประสบการณ์ตรง รับรู้-เห็นด้วยตา และปฏิบัติด้วยมือ เป็นการเพิ่มศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ด้วยเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ นอกจากนั้น เยาวชนเกิดการซึมซับ รู้รักษ์ รู้ค่า ไพรพนาป่าเขา ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปลูกจิตสำนึกที่จะรักษาและหวงแหนธรรมชาติแลทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นบ้านเกิด ให้ยั่งยืนต่อไป