มวนพิฆาต Stink bug ; Eocanthecona furcellata (Wolff) เป็นแมลงศัตรูธรรมชาติพวกแมลงห้ำ ทั้งในระยะตัวอ่อน และตัวเต็มวัย ทั้งเพศผู้และเพศเมีย สามารถทำลายศัตรูพืชในระยะหนอนได้หลายชนิด โดยเฉพาะหนอนผีเสื้อต่างๆ มวนพิฆาตนี้สามารถนำไปปล่อยเพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืข และดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาพสวน และสภาพไร่

 

pikat

ลักษณะและชีวประวัติ

ไข่ มวนพิฆาตเมื่อลอกคราบออกมาเป็นตัวเต็มวัยได้ประมาณ 4 วัน จะเริ่มผสมพันธุ์ และหลังจากนี้ 3 วัน จะเริ่มวางไข่บนใบ กิ่ง ลำต้น ไข่มีลักษณะกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 มิลลิเมตร สีน้ำตาลเป็นมันสะท้อนแสง และจะเปลี่ยนเป็นสีส้มเมื่อใกล้ฟัก มวนพิฆาตจะวางไข่เป็นกลุ่ม เรียงกันเป็นแถวจำนวน 20 ? 100 ฟอง/กลุ่ม ไข่มีอายุนาน 7 ? 8 วัน

ตัวอ่อน ตัว อ่อนวัย 1 หลังฟักออกมาจากไข่ จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเกาะนิ่งอยู่กับที่ มีการเคลื่อนไหวน้อยมาก ยังไม่มีพฤติกรรมเป็นแมลงห้ำ มันดำรงชีวิตด้วยการดูดกินน้ำเลี้ยงที่เกาะอยู่ตามต้น ใบ กิ่งพืช เป็นอาหาร ตัวอ่อนวัยนี้มีอายุ 2 ? 3 วัน

การเป็นแมลงห้ำของมวนพิฆาตจะเริ่มเมื่อเป็นระยะตัวอ่อนวัย 2 จนถึงระยะตัวเต็มวัย มวนพิฆาตตั้งแต่วัย 2 เป็นตนไปจะไม่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม แต่จะแยกย้ายออกหาเหยื่อคือหนอนของศัตรูพืช ตัวอ่อนของมวนพิฆาตมี 5 วัย ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 18 วัน แล้วจะเปลี่ยนเป็นตัวเต็มวัย

ตัวเต็มวัย ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลแก่ ขนาดวัดจากหัวถึงปลายปีกยาว 1.3 ? 1.6 เซนติเมตร ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ มีอายุประมาณ 23 วัน ลักษณะเด่นของมวนพิฆาตตัวเต็มวัยที่แตกต่างจากมวนศัตรูพืชอื่นๆ คือ ที่บ่าทั้งสองข้างจะมีหนามแหลมข้างละอัน ตัวเมียสามารถวางไข่ได้ประมาณ 340 ฟอง/ตัว

ลักษณะการทำลายเหยื่อ

มวนพิฆาตมีปากแบบแทงดูด ตามปกติปากของมวนพิฆาตจะพับเก็บไว้ใต้อก แต่เมื่อพบเหยื่อมันจะตวัดออกมาด้านหน้า เข้าจู่โจมเหยื่อทันที โดยใช้ปากที่มีลักษณะคล้ายเข็มแทงเข้าไปในลำตัวหนอนศัตรูพืช แล้วปล่อยสารพิษ (venom) ทำให้หนอนเป็นอัมพาตไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ จากนั้นจึงดูดกินของเหลวภายในตัวหนอนจนหนอนแห้งตายแล้วจึงทิ้งเหยื่อ เพื่อไปหาเหยื่อใหม่ต่อไป

ประสิทธิภาพในการทำลายแมลงศัตรูพืช

มวนพิฆาตเป็นแมลงห้ำมีความสามารถสูงในการกินหนอนศัตรูพืช มวนพิฆาตตัวอ่อนวัย 2 ? 5 จำนวน 1 ตัว สามารถทำลายหนอนได้เฉลี่ย 80 ตัว มวนพิฆาตตัวเต็มวัยสามารถทำลายหนอนได้เฉลี่ย 130 ตัว และตลอดชีวิตของมวนพิฆาตสามารถทำลายหนอนประมาณ 180 – 260 ตัว หรือโดยเฉลี่ย 5 ? 7 ตัว/วัน

การผลิตขยายมวนพิฆาต

การผลิตขยายมวนพิฆาตประกอบด้วย 2 ขั้นตอน

  • การผลิตขยายเหยื่ออาหารของมวนพิฆาต ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน
    • การผลิตขยายหนอนกระทู้หอมด้วยอาหารเทียม
    • การผลิตขยายหนอนนกด้วยอาหารไก่
  • การผลิตขยายมวนพิฆาต

การนำมวนพิฆาตไปใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืช

การนำมวนพิฆาตไปใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธี ทำได้โดยการปล่อยมวนพิฆาตตัวอ่อนวัย 3 ? 4 เช่น การควบคุมหนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก และหนอนเจาะสมอฝ้าย ในหน่อไม้ฝรั่ง และถั่วฝักยาว จะทำการปล่อยมวนพิฆาตจำนวน 3,200 ตัว/ไร่/ครั้ง การระบาด 1 ครั้ง/ต้นทุนในการผลิตมวน 432 บาท และในองุ่นจะปล่อยมวนพิฆาตจำนวน 2,400 ตัว/ไร่/ครั้ง การระบาด 1 ครั้ง/ต้นทุนในการผลิตมวน 324 บาท สามารถควบคุมและลดปริมาณหนอนศัตรูพืชได้ 80 ? 90% ซึ่งจัดว่าเป็นแมลงห้ำที่มีประสิทธิภาพสูงมาก

ประโยชน์

ในอนาคตที่การผลิตขยายมวนพิฆาตพัฒนาไปสู่ระดับอุตสาหกรรมได้เป็นผลสำเร็จ การนำมวนพิฆาตไปใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของกสิกรที่จะ นำไปใช้ เพื่อลดการใช้สารฆ่าแมลง ลดต้นทุนการผลิต ลดอันตรายจากสารฆ่าแมลงต่อกสิกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นแนวทางนำไปสู่ระบบการเกษตรที่ยั่งยืนต่อไป

โดย : รัตนา นชะพงษ์ กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร