การป้องกันกำจัด…ปลวก

ปลวกเป็นแมลงที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ โดยเฉพาะมนุษย์ เนื่องจากปลวกใช้เซลลูโลสเป็นอาหาร ทำให้เกิดอันตรายโดยตรงต่อพืชพันธุ์ต่างๆทั้งที่มีชีวิตอยู่หรือตายแล้ว ตลอดจนทำลายสิ่งก่อสร้างอาคารบ้านเรือน และวัสดุสิ่งของต่างๆ ที่ทำด้วยไม้หรือสารเซลลูโลส นอกจากนี้ปลวกยังสามารถกัดทำลายพลาสติก เครื่องหนัง ฉนวนหุ้มสายโทรศัพท์ ตลอดจนโลหะที่อ่อน เช่นตะกั่ว อลูมิเนียม เป็นต้น

ความเสียหายจากปลวก

3. ทำความเสียหายแก่พืชพันธุ์ป่าไม้ ส่วนใหญ่ทำอันตรายระบบรากพืชในระยะต้นกล้า ต้นยูคาลิปตัสที่ปลูกกันมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ในระยะต้นกล้าที่อายุ 1-2 ปี ระบบรากจะถูกปลวกกัดกินและสร้างทางเดินเข้าไปตามแกนกลางลำต้น ทำให้ระบบท่อน้ำท่ออาหารถูกทำลาย ต้นกล้าจะเตี้ยแคระและแห้งตายได้

4. ทำความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือน สิ่งก่อสร้างที่ทำจากไม้ ในสหรัฐอเมริกาเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว ค่าใช้จ่ายในการป้องกันกำจัดปลวกรวมกับค่าเสียหายที่ปลวกทำลายอาคารบ้าน เรือนคิดเป็นเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท ในประเทศญี่ปุ่นมีบริษัทกำจัดปลวกไม่น้อยกว่า 400 บริษัท ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีการสำรวจความเสียหายที่เกิดจากปลวก คาดว่าคงได้รับความเสียหายมาก

สำหรับประโยชน์ของปลวกก็ คือ ทำให้สภาพของสมดุลในธรรมชาติดำเนินไปด้วยดี พื้นที่ป่าที่มีต้นไม้หลากหลายชนิด กิ่งไม้ใบไม้ที่ตายแล้ว รวมทั้งเศษไม้ใบหญ้าต่างๆ ทับถมอยู่ ปลวกเป็นตัวการสำคัญในการย่อยสลาย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นอินทรียวัตถุ พื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นประโยชน์แก่การเจริญเติบโตของพืชพันธุ์อื่นๆ ปลวกบางชนิดมีความสัมพันธ์กับเห็ด รา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็ดโคน ปลวกจึงสามารถเพาะเลี้ยงเห็ดขึ้นมาเองได้

วงจรชีวิตของปลวก

การพัฒนาการเจริญเติบโตของปลวกคล้ายคลึงกับตั๊กแตนและมวน โดยมีการเจริญเติบโตแบบไม่สมบูรณ์ (incomplete metamorphosis) ไม่มีระยะดักแด้หรือระยะพักตัวที่ยาวนาน การเจริญเติบโตแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ไข่ ตัวอ่อน ซึ่งคล้ายตัวเต็มวัยแต่สีอ่อนกว่า และตัวเต็มวัย ระยะเวลาแต่ละในแต่ละวัยจะแตกต่างกันตามชนิดของปลวก

ในช่วงระยะเวลาขยายพันธุ์เราเรียกปลวกพวกนี้ว่า ? แมงเม่า? ซึ่งเป็นปลวกที่มีปีกโดยมันจะคลานออกมาจากจอมปลวกเพื่อบินเข้าหาแสงไฟหรือ แสงสว่าง หลังจากบินชั่วระยะหนึ่งจะลงสู่พื้นดิน ปลวกเพศเมียกระพือปีกและปล่อยสารดึงดูดทางเพศออกมาล่อแมงเม่าเพศผู้ เมื่อได้กลิ่นสารดึงดูดทางเพศจากเพศเมีย เพศผู้ก็จะเดินตามเพศเมียเพื่อจับคู่ผสมพันธุ์ ในบางครั้งจะพบแมงเม่าเดินต่อกันเป็นแถวเรียงเดี่ยว ตัวที่เดินนำหน้าและมีขนาดตัวใหญ่กว่าเป็นแมงเม่าเพศเมีย ส่วนเพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่า หลังจากนั้นก็จะสลัดปีกออกและจับคู่ผสมพันธุ์

หลังจากผสมพันธุ์แล้ว ปลวกเพศผู้ยังคงมีชีวิตอยู่ร่วมกับนางพญาปลวก ปลวกนางพญาวางไข่เป็นฟองเดี่ยวขนาดเล็กรูปทรงกระบอกและโค้งเล็กน้อย ไข่จะฟักออกเป็นตัวอ่อน ในระยะตัวอ่อนมีการลอกคราบหลายครั้ง การลอกคราบแต่ละครั้งขนาดของตัวอ่อนและจำนวนปล้องของหนวดจะเพิ่มขึ้น ขนาดและจำนวนปล้องของหนวดจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงระยะลอกคราบของปลวก หลังจากการพัฒนาตัวอ่อนในระยะที่ 2 ตุ่มปีกจะปรากฏให้เห็น ระบบสืบพันธุ์จะพัฒนาทำหน้าที่ได้หลังจากการลอกคราบครั้งสุดท้าย ตัวอ่อนระยะที่ 1 และ 2 ยังไม่มีร่องรอยของตุ่มปีก มีหน้าที่เป็นปลวกงาน หลังจากลอกคราบอีกครั้งหนึ่งแล้วจะกลายเป็นปลวกทหาร ดังนั้นปลวกทหารจะปรากฏเมื่อมีการลอกคราบครั้งที่ 3 ตัวอ่อนพัฒนาเป็นปลวกตัวเต็มวัยที่มีปีก และยังคงอยู่ในรังเพื่อรอสภาพเหมาะสมที่จะบินออกไปผสมพันธุ์ บางครั้งสลัดปีกทิ้งและอยู่ในรังในฐานะปลวกงานพิเศษ

ปลวกในสกุลคาโลเทอร์เมส (Kalotermes) หลังการลอกคราบครั้งที่ 3 ตัวอ่อนสามารถกัดกินไม้และมีการย่อยด้วยความช่วยเหลือของโปรโตซัว ปลวกสามารถสร้างน้ำย่อยและสำรวกอาหารออกมาเลี้ยงตัวอ่อนและนางพญาได้ ตัวอ่อนเหล่านี้จะหยุดการลอกคราบเพื่อเป็นตัวเต็มวัย

การป้องกันกำจัดปลวก

1. ปลวกที่ทำความเสียหายแก่พืชพันธ์ทางเกษตรและป่าไม้ เป็นปลวกที่อาศัยอยู่ในดิน วิธีการป้องกันกำจัดปลวกมีดังนี้

– ใช้สารฆ่าแมลงหว่านหรือเป็นร่องแล้วให้น้ำในแปลงก่อนการเพาะปลูกพืช สารเคมีที่ใช้ควรเป็นพวกที่มีฤทธ์ตกค้างสั้น

– ใช้สารฆ่าแมลงเฉพาะเจาะจงกับต้นพืช ก่อนการเพาะปลูกควรคลุกเมล็ดหรือจุ่มท่อนพันธุ์ ต้นกล้า ด้วยสารเคมี วิธีนี้ใช้สารเคมีในปริมาณน้อย

– ใช้สารฆ่าแมลงพ่นเข้าไปในจอมปลวกโดยตรง ใช้กับปลวกพวกสร้างรังเป็นจอมปลวกขึ้นมาบนพื้นดินในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในไร่ ในป่า หรือในบริเวณที่อยู่อาศัย ปริมาณสารเคมีที่ใช้ขึ้นอยู่กับขนาดของจอมปลวก

2. การป้องกันกำจัดปลวกที่ทำลายอาคารและสิ่งก่อสร้าง แบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน คือ

– ระยะก่อนสร้างบ้าน ควรเก็บและกำจัดเศษไม้ ตอไม้ รังไม้ กล่องกระดาษ ฯลฯ ออกจากบริเวณที่ก่อสร้างบ้าน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยระยะแรกของปลวกได้เป็นอย่าง ดี หากพบปลวกหรือรังปลวกอยู่ในบริเวณนั้นต้องขุดออกและนำไปทำลายเสีย และใช้สารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำตามอัตราส่วนที่ระบุไว้ในสลาก ราดบริเวณที่ขุดรังปลวกออก หลังจากนั้น 3 วัน ทำการตรวจสอบดูว่ายังคงมีปลวกที่มีชีวิตหลงเหลืออีกหรือไม่ ถ้ามีต้องทำการขุดตรงรังปลวกให้ลึกลงไปอีก แล้วใช้สารฆ่าแมลงราดกำจัดปลวกอีกครั้งหนึ่ง

– ระยะก่อสร้างบ้าน ควรเลือกหาไม้แปรรูปที่มีความทนทานต่อการเข้าทำลายของปลวก จากผลการทดลองของหน่วยงานราชการ พบว่าไม้แปรรูปหลายชนิดมีความทนทานต่อการเข้าทำลายของปลวก ได้แก่ ไม้แดง ชิงชัน เต็ง ประดู่ มะค่าแต้ สัก รัง และอ้อยช้างหรือกุ๊ก ในกรณีใช้ไม้ไม่ทนทานต่อการเข้าทำลายของปลวกควรทำการอาบหรืออัดน้ำยา หรือพ่นน้ำยาลงบนพื้นผิวไม้ ไม้เบญจพรรณอัดน้ำยาอาจหาซื้อจากโรงงานอัดน้ำยา หรือนำไม้เบญจพรรณที่จะใช้ก่อสร้างบ้านไปรับการอัดน้ำยาเคมีรักษาเนื้อไม้ ตามโรงงานขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ นอกจากนี้ยังมีสารเคมีที่มีส่วนผสมต่างๆ ใช้ในการสร้างความทนทานของไม้ได้แก่สารจำพวก คลีโอโสต ซิงค์คลอไรด์ โซเดียมฟลูโอไรด์ คอบเปอร์ซัลเฟต เมอรคิวริคคลอไรด์ โครเมทซิงค์คลอไรด์ ฯลฯ

ในกรณีบ้านที่ปลูกสร้างมีพื้นที่เป็นคอนกรีต ก่อนเทพื้นคอนกรีตควรใช้นากันปลวกราดบริเวณพื้นที่ที่ปรับเรียบร้อยแล้ว สารเคมีป้องกันกำจัดปลวกสามารถหาซื้อได้ในท้องตลาด ใช้สารตามอัตราที่แจ้งไว้ในสลาก ราดสารให้ทั่วบริเวณพื้นที่ที่จะเทคอนกรีต บริเวณใกล้คานคอดินด้านในโดยรอบ ราดสารให้เปียกชุ่มมากๆ สำหรับภาชนะที่ใช้ราดน้ำยาใช้บัวรดน้ำต้นไม้ธรรมดาก็ได้ และควรระมัดระวังอันตรายจากการใช้สารเคมี หากไม่ระมัดระวัง อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ขณะใช้สารเคมีฆ่าปลวกราดหรือรดพื้นที่ ควรยืนอยู่เหนือลม และไม่ควรเดินย่ำเข้าไปในบริเวณที่ได้ราดสาร ไม่ควรกินอาหาร เครื่องดื่มใดๆ หรือสูบบุหรี่ หลังจากทำการราดสารเคมีกันปลวกเสร็จสิ้น ควรอาบน้ำชำระร่างกาย หรืออย่างน้อยล้างมือและส่วนร่างกายที่สัมผัสกับสารเคมีด้วยสบู่ให้สะอาด

อีกวิธีหนึ่งที่ใช้กันคือ ผสมสารเคมีกันปลวกลงในปูนซีเมนต์ที่จะเทพื้น ในกรณีปลูกบ้านยกพื้นใต้ถุนสูง ส่วนที่สัมผัสกับดิน โดยเฉพาะเสาบ้าน ท่อระบายน้ำทิ้ง ท่อน้ำ ควรใช้แผ่นโลหะ หรือโลห์กันปลวก (termite shield) ปิดคาดล้อมเสาเหล่านั้น แผ่นโลหะกันปลวกควรเป็นโลหะชนิดที่ไม่เป็นสนิม เช่น ทองแดง สแตนเลส หรืออลูมิเนียม ความหนาประมาณ 0.5 มิลลิเมตร นำมาตัดทำเป็นรูปกรวยคาดล้อเสา ให้ด้านเอียงของกรวยคว่ำทำมุมกับเสาในแนวดิ่ง 45 องศา เพื่อป้องกันมิให้ปลวกเดินผ่านแผ่นโลหะนี้ได้ ดินบริเวณโคนเสาหรือท่อระบายน้ำทิ้งควรขุดให้รอบและเทสารกันปลวก บ้านที่ปลูกบกพื้นสูงจากพื้นดินและตีผนังหรือก่ออิฐปิดใต้ถุนทั้งสี่ด้าน ควรเปิดช่องขนาดพอตัวคนลอดเข้าไปสำรวจปลวกได้เป็นครั้งคราวหรือประจำปี อย่างไรก็ตามเจ้าของบ้านสามารถป้องกันปลวกเข้าทำลายบ้านด้วยสารเคมีป้องกัน ปลวกที่มีพิษตกค้างระยะสั้นและควรป้องกันปลวกจากข้างนอกเข้ามาในบ้านโดยขุด ร่องล้อมรอบตัวบ้านลึกประมาณ 1 ฟุต แล้วใช้สารเคมีกันปลวกเทราดลงในร่อง กรณีที่ย้ายของเข้าบ้านใหม่ ควรตรวจดูสิ่งของที่จะนำเข้ามาในบ้านว่ามีปลวกติดปะปนมาหรือไม่

อนึ่ง ช่วงเดือนพฤษภาคม มิถุนายน พฤศจิกายน และธันวาคม ของทุกปี แมลงเม่าจะออกจากบินเพื่อจับคู่ผสมพันธุ์ โดยบินเล่นแสงไฟเวลากลางคืนและเข้ามาในบ้าน ถึงแม้ว่าจะปิดประตูหน้าต่างและมีมุ้งลวดแล้วก็ตาม แมลงเม่าสามารถเข้าตามฝ้าใต้ชายคาบ้านที่ตีด้วยไม้ระแนง จึงควรใช้มุ้งลวดบุฝ้าใต้ชายคาบ้านหรืออาจใช้แผ่นไม้อัดหรือกระเบื้องกระดาษ ปิดฝ้าใต้ชายคาบ้าน เพื่อกันแมลงเม่าบินเข้าไปสร้างรังแล้วทำลายภายหลัง และควรทำช่องที่ฝ้าเพดานบ้านขนาดพอตัวคนขึ้นไปตรวจสอบโครงหลังคาบ้านที่เป็น ไม้ว่ามีปลวกเข้าทำลายหรือไม่

– ระยะหลังจากปลวกเข้าทำลายอาคารบ้านเรือน ทำการตรวจสอบโครงสร้างของอาคารตามจุดที่ปลวกชอบเข้าทำลาย เช่น ขอบบัวของพื้นอาคารที่ทำด้วยไม้หรือแผ่นยางไวนิล พื้นไม้ปาร์เก้ บริเวณห้องหน้าที่มีตู้หรือชั้นที่ทำด้วยไม้ บริเวณใต้บันไดห้องเก็บของซึ่งเงียบและมืด บริเวณช่องผนังกั้นห้องและพื้นรอบอาคาร ส่วนเหล่านี้มักพบจอมปลวกหรือทางเดินของปลวก หากพบปลวกในบริเวณที่กล่าวมา ใช้สารเคมีกำจัดปลวกพ่นหรือทา หรือใช้วิธีฉีดด้วยแรงอัดเข้าไปในไม้ที่เป็นโครงสร้างของอาคาร ในกรณีฉีดอัดด้วยแรงดันต้องใช้สว่านเจาะนำก่อน เช่น ปลวกที่ทำรังใต้พื้นอาคารและขึ้นมาทำลายโครงสร้างที่เป็นไม้ จำเป็นจะต้องเจาะพื้นและอัดฉีดสารเคมีลงในพื้นเป็นระยะ ตามความมากน้อยที่ปลวกเข้าทำลาย

การกำจัดปลวกหลังการก่อสร้าง กระทำได้ยากและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย จึงควรทำการป้องกันก่อนหรือระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งเป็นวิธีการที่ถูกต้องและประหยัด อาคารบ้านเรือนของท่านก็จะปลอดจากปลวก

โดย : ผศ.ดร.ณิศ กีร์ติบุตร ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์