ting1

หิ่งห้อย หรือ แมลงแสง แมลงคาเรือง แมลงทิ้งถ่วงเป็นแมลงปีกแข็ง อยู่ในวงศ์แลมพายรีดี้ (Lampyridae) อันดับโคลีออปเทอรา (Coleoptera) ทั่วโลกมีหิ่งห้อยประมาณ 2,000 ชนิด ประเทศไทยมีประมาณ 100 ชนิด หิ่งห้อยตัวแรกที่มีหลักฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์แมลง กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร คือ Luciola substriata Gorham พบโดยชาวอังกฤษชื่อ W.S.R. Ladell และจำแนกชนิดโดย G.E.B. Gorham เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 ระบุสถานที่พบว่า ประเทศไทย

ลักษณะและแหล่งอาศัยของหิ่งห้อย

หิ่งห้อยมีแสงทั้งระยะหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ระยะไข่มีแสงเฉพาะบางชนิดเท่านั้น หิ่งห้อยตัวผู้มีปีก ตัวเมียมีรูปร่างหลายแบบ มีทั้งปีกปกติ ปีกสั้น และมีรูปร่างคล้ายหนอน หิ่งห้อยระยะหนอนกินหอย ไส้เดือน กิ้งกือ และแมลงตัวเล็กๆ เป็นอาหาร มีแหล่งอาศัยแตกต่างกันไปตามชนิดของหิ่งห้อย เช่น อาศัยตามบริเวณน้ำจืด น้ำกร่อยที่มีน้ำทะเลหนุน และสภาพที่เป็นสวนป่า หรือภูเขาที่มีสภาพแวดล้อมดั้งเดิมไม่ถูกทำลาย

การเกิดแสงของหิ่งห้อย

ตัวเต็มวัยของหิ่งห้อยมีอวัยวะทำแสงอยู่ที่ปล้องท้องด้านล่าง ตัวผู้ให้แสง 2 ปล้อง ตัวเมียให้แสง 1 ปล้อง แสงในตัวผู้จึงสว่างกว่าตัวเมีย แสงของหิ่งห้อยเป็นแสงเย็น เกิดจากปฏิกิริยาของสาร luciferin ที่อยู่ในอวัยวะทำแสง

วงจรชีวิตของหิ่งห้อยน้ำจืด Luciola brahmina Bourgeois

หิ่งห้อยตัวเมียวางไข่ใต้ใบพืชน้ำ เช่น ใบจอก วางไข่เป็นกลุ่มๆ ละประมาณ 5 130 ฟอง ไข่มีสีเหลืองนวล รูปร่างรี กลุ่มไข่มีเมือกใสปกคลุม ไข่อายุ 9 วัน มีระยะหนอน 5 วัย หนอนวัยแรกมีครีบรอบลำตัว หนอนวัยอื่นไม่มีครีบ ระยะหนอน 79 วัน ระยะดักแด้ 6 วัน ตัวเต็มวัยมีขนาดยาว 10 มม. กว้าง 4.0 มม. วงจรชีวิตประมาณ 3 เดือน

วงจรชีวิตของหิ่งห้อยน้ำกร่อย Pteroptyx malaccae (Gorham)

หิ่งห้อยตัวเมียวางไข่เดี่ยวๆ ในดินที่ชุ่มชื้น ไข่มีลักษณะกลมสีนวล ระยะไข่ 13 วัน มีระยะหนอน 5 วัย ใช้เวลานาน 87 วัน หนอนทุกระยะมีรูปร่างเหมือนกัน แตกต่างกันที่ขนาดและสีที่เข้มขึ้นของลำตัว ระยะดักแด้ 7 วัน ตัวเต็มวัยมีขนาดยาว 7.0 มม. กว้าง 3.0 มม. หิ่งห้อยตัวผู้บินอยู่ในระดับสูงกว่าตัวเมีย วงจรชีวิต 107 วัน หรือ ประมาณ 3 เดือนครึ่ง

วงจรชีวิตของหิ่งห้อยบริเวณสวนป่า Luciola circumdata Motschulsky

หิ่งห้อยตัวเมียวางไข่เดี่ยวๆ บนดินที่มีความชุ่มชื้น ไข่มีลักษณะกลมสีนวล ระยะไข่ 15 วัน หนอนมี 5 วัย ระยะหนอน 420 วัน ระยะดักแด้ 10 วัน ตัวเต็มวัยมีขนาดยาว 12 มม. กว้าง 7.0 มม. วงจรชีวิต 445 วัน

วงจรชีวิตของหิ่งห้อยจะยาวนานหรือสั้นขึ้นอยู่กับฤดูกาล อุณหภูมิ ความชื้น และความสมบูรณ์ของอาหาร

ประโยชน์ของหิ่งห้อย

  • หิ่งห้อยเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์และสภาพแวดล้อม
  • หิ่งห้อยระยะหนอน เป็นตัวห้ำทำลายหอยที่เป็นโฮสต์กึ่งกลาง (intermediate host) ของพยาธิที่เป็นสาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในคน โรคเลือดในสัตว์ และพยาธิใบไม้ลำไส้ของคน
  • ด้านพันธุวิศวกรรม สามารถใช้สารลูซิเฟอรินในหิ่งห้อยเป็นเครื่องบ่งบอกว่า การตัดต่อยีนส์ประสบผลสำเร็จหรือไม่
  • นักวิทยาศาสตร์ ได้นำยีนส์หรือฮอร์โมนที่สร้างแสงสว่างของหิ่งห้อย มาใช้ประโยชน์ในการตรวจหาเชื้อแบคทีเรียในเนื้อสัตว์ได้รวดเร็วขึ้น
  • นักวิทยาศาสตร์ของศูนย์เอกซเรย์ในสหรัฐอเมริกาได้สกัดสารลูซิเฟอรินจาก หิ่งห้อย ปล่อยเข้าไปในร่างกายมนุษย์เพื่อให้แสงไปจับตามหน่วยถ่ายพันธุกรรม ที่อาจสะสมอยู่ในเซลล์ที่เป็นมะเร็ง เพื่อช่วยให้การตรวจหาเนื้อร้ายในร่างกายได้ง่ายขึ้น
  • ให้ความสวยงามยามค่ำคืนในสภาพธรรมชาติ หากมีปริมาณมากสามารถจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้

โดย : สมหมาย ชื่นราม กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร