แมลงดำหนามมะพร้าว…ภัยเงียบที่กำลังคืบคลาด

brontispa adults copy

ช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ.2547 กรมวิชาการเกษตรได้รับแจ้งข่าวการระบาดของแมลงชนิดหนึ่ง ทำความเสียหายแก่มะพร้าวของเกษตรกรในหลายพื้นที่ เช่น อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเกาะพงัน และอำเภอเกาะสมุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นต้น โดยสภาพที่มองเห็นได้ชัด คือ ทางมะพร้าวที่ถัดจากยอดเป็นรอยแห้งตลอดทางใบ ถ้าทางถูกทำลายจำนวนมาก ใบก็ไม่สามารถปรุงอาหารได้เนื่องจากขาดครอโรฟิลล์ มีผลกระทบต่อผลผลิตมะพร้าว นอกจากนี้ยังทำให้เสียภาพลักษณ์ทางด้านศิลป์ของต้นมะพร้าว เพราะภาพที่ปรากฏ ทางใบมีลักษณะเป็นรอยไหม้แห้ง ชาวบ้านเรียกลักษณะนี้ว่า มะพร้าวเป็นโรคหัวหงอก หน่วยงานที่รับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช สถาบันวิจัยพืชสวน สถาบันวิจัยหม่อนไหม สำนักวิจัยพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 และเขตที่ 8 ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ได้ทำการสำรวจและพบว่า เป็นการระบาดของด้วงชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อสามัญว่า แมลงดำหนามมะพร้าว (coconut hispine beetle) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Brontispa longissima Gestro

การแพร่ระบาด

แมลงดำหนามมะพร้าวเป็นแมลงพื้นเมืองของประเทศอินโดนีเซีย ปาปัวนิวกินี รวมทั้งกลุ่มเกาะบิสมาร์ก อาร์คิปิลาโก นอกจากนั้นยังพบที่หมู่เกาะโซโลมอน ประเทศวานาอาตู เกาะนิงกินี หมู่เกาะเฮบริดีส์ ดินแดนนิงแดลีโดเนีย เกาะตาฮิติ หมู่เกาะเวสเทิร์นซามัว ออสเตรเลียตอนเหนือและไต้หวัน ที่ฮ่องกงมีการปลูกปาล์มประดับกันมากโดยนำพันธุ์เข้ามาจากมณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ปี พ.ศ.2531 พบแมลงดำหนามมะพร้าวทำลายเปตติโคตรปาล์มในเรือนเพาะชำในฮ่องกง และปี พ.ศ.2534 พบทำลายมะพร้าวต้นสูง ( อายุมากกว่า 30 ปี) แสดงว่าแมลงชนิดนี้แพร่กระจายมาจากปาล์มประดับของจีน (CABI, 2003)

การทำลาย

ตัวเต็มวัยและหนอนอาศัยกินอยู่ในใบย่อยของยอดมะพร้าวที่ยังไม่คลี่ โดยแทะผิวใบทั้งด้านหน้าและด้านหลังทำให้พื้นที่สังเคราะห์แสงน้อยลง ใบไหม้แห้ง แมลงชนิดนี้ทำลายพืชตระกูลปาล์มหลายชนิด เช่น ปาล์มในสกุล Areca, Elaeis, Caryata, Latania, Metroxylon, Phoenix, Ptychosperma, Roystonea และ Washingtonia (Lever, 1969) ส่วนแมลงดำหนามชนิดที่เคยพบเป็นศัตรูมะพร้าวในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2520 มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Plesispa reichei Chapuis ซึ่งเข้าทำลายมะพร้าวในระยะต้นกล้า ส่วน B. longissima เคยพบทำลายมะพร้าวต้นสูงในเขตจังหวัดนราธิวาสเมื่อปี พ.ศ.2543 และมีการระบาดทำความเสียหายแก่มะพร้าวในประเทศเวียดนาม

ลักษณะการทำลาย

ตัวหนอนและตัวเต็มวัยกัดแทะผิวใบอ่อนที่ยังไม่คลี่ เมื่อใบยอดคลี่กางออกจะไม่พบแมลงเหล่านี้อาศัยอยู่ แต่จะเห็นใบเป็นรอยแห้งทั้งทางใบ

วงจรชีวิต

ไข่ รูปยาวรีสีน้ำตาล ค่อนข้างแบน ขนาด 0.8 x 2 มิลลิเมตร วางไข่ทั้งเป็นฟองเดี่ยวๆ และเป็นแถวๆ ละ 2-3 ฟอง วางไข่บนใบอ่อนที่ยังไม่คลี่ บริเวณขอบของไข่จะเป็นขุยสีน้ำตาลอ่อน ระยะไข่ 5-9 วัน ตัวเต็มวัยเพศเมีย 1 ตัว วางไข่ได้ประมาณ 100 ฟอง

หนอน ตัวหนอนที่ฟักจากไข่ใหม่ๆ สีขาว มีขาจริง 3 คู่ ด้านข้างของลำตัวทุกปล้องมีลักษณะคล้ายหนามยื่นออกมา ที่ปลายสุดของส่วนท้องมีอวัยวะคล้ายคาลิปเปอร์ 1 คู่ เมื่อใกล้ลอกคราบ ลำตัวจะมีสีเข้มขึ้นจนเป็นสีน้ำตาล คราบที่ลอกออกมาจะเห็นส่วนของคาลิปเปอร์ชัดเจน หนอนมี 4 วัย ระยะหนอน 30-40 วัน

ดักแด้ หนอนที่เจริญเต็มที่จะหยุดกินอาหาร และเปลี่ยนรูปร่างเป็นดักแด้ โดยเข้าดักแด้บริเวณใบที่อาศัยอยู่ ระยะดักแด้ ประมาณ 4-7 วัน

ตัวเต็มวัย เป็นด้วงขนาดลำตัว 2 x 9 มิลลิเมตร หนวดมี 11 ปล้อง ส่วนหัวสีดำ ส่วนอกมีสีน้ำตาลปนส้ม ปีกคู่แรกสีดำหรือมีสีน้ำตาลปนส้ม ชนิดที่มีสีน้ำตาลปนส้ม จะพบสีของปีกทั่วไปเป็นสีน้ำตาลแก่ บริเวณโคนปีกที่ติดกับส่วนอกมีสีส้มประมาณ 1 ใน 3 ของความยาวปีก ตัวเต็มวัยมีอายุนานมากกว่า 3 เดือน วางไข่ได้ประมาณ 100 ฟอง/ตัว มีความว่องไวในช่วงพลบค่ำ (nocturnal insect)

ศัตรูธรรมชาติ

ใน พ.ศ.2546 ประเทศเวียดนามประสบความสำเร็จในการปล่อยแตนเบียน Asecodeshispinarum (Hymenoptera : Eulophidae) ซึ่งนำเข้ามาจากซามัว ให้ทำลายหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว และสามารถลดการระบาดได้ ที่หมู่เกาะ Celebes มีการใช้แตนเบียนอีกชนิดหนึ่งคือ Tetrastichus brontispae (Ferriere) (Hymenoptera : Eulophidae) ซึ่งนำเข้ามาจาก Java ประเทศอินโดนีเซ้ย ช่วยในการควบคุมแมลงดำหนามมะพร้าวได้สำเร็จ วงจรชีวิตของแตนเบียน T. brontispae 16-23 วัน (Lever, 1969)

สำหรับประเทศไทย คุณจรัสศรี วงศ์กำแหง ศูนย์วิจัยพืชไร่สงขลา กรมวิชาการเกษตร ได้พบแตนเบียนทำลายหนอนของแมลงดำหนามมะพร้าวที่จังหวัดสงขลส และ รศ.โกศล เจริญสม ภาควิชากัฏวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ได้จำแนกชนิด พบว่า แตนเบียนชนิดนี้คือ Tetrastichus brontispae

แนวทางการป้องกันกำจัด

มะพร้าวเป็นพืชที่มีลำต้นสูงเป็นการยากในการจัดการป้องกันกำจัดด้วงชนิดนี้ การแก้ปัญหาในระยะยาวมีโอกาสเป็นไปได้ในการนำแตนเบียน Asecodes hispinarum ชนิดเดียวกันกับที่เวียดนามเคยใช้ในการป้องกันกำจัดสำเร็จมาใช้ ซึ่งขณะนี้กรมวิชาการเกษตรกำลังดำเนินการจัดทำโครงการเพื่อศึกษาเกี่ยวกับ เรื่องการนำแตนเบียนชนิดนี้เข้ามาขยายพันธุ์ให้ได้ปริมาณมาก และนำไปปลดปล่อย เพื่อลดการระบาดของแมลงดำหนามมะพร้าว โดยได้รับการสนับสนุนจาก Food and Agriculture Organization (FAO)

อีกแนวทางหนึ่งคือการกำจัดแมลงดำหนามบนต้นกล้ามะพร้าวและพืชตระกูลปาล์มจาก พื้นที่ที่มีการระบาด ก่อนทำการเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยการพ่นสารฆ่าแมลง carbaryl (Sevin 85%WP) อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ imidacloprid (Admire 5%EC) อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

เอกสารอ้างอิง

CABI. 2003. Crop Protection Compendium2003. CAB International, Wallingforf, UK.

Lever, RJ.AW. 1969. Pests of Coconut Palm. Food and Agriculture Organization of United Nations. Rome. 190p.

โดย : พรรณเพ็ญ ชโยภาส ศิริณี พูนไชยศรี กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช