เรื่องของแมลงเบื้องต้นแมลง

เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ที่มีบรรพบุรุษร่วมกันมากับสัตว์ขาปล้องกลุ่มอื่นๆ เช่น กุ้ง ปู แมงป่อง และเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการมายาวนานกว่า 400 ล้านปี มีความหลากหลาย ทั้งในด้านรูปร่างลักษณะและจำนวนชนิด นักกีฏวิทยาประมาณว่าในโลกแมลงนี้มีแมลงมากกว่า 30 ล้านชนิด หรือกล่าวได้ว่าร้อยละ 75 ของสัตว์ทั้งหมดที่พบในโลก คือ แมลง การที่แมลงประสบความสำเร็จในการดำรงชีพมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น เป็นเพราะแมลงเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก ทำให้มีความต้องการที่อยู่อาศัย ตลอดจนปริมาณอาหารเพื่อการดำรงชีพไม่มากนัก นอกจากนี้แมลงยังเป็นสัตว์ที่มีโครงกระดูกอยู่ภายนอกลำตัว จึงสามารถปกป้องอันตรายจากสิ่งแวดล้อมได้อย่างดีเยี่ยม รวมทั้งเป็นสัตว์ที่มีวงชีวิตสั้น ขยายพันธ์ได้ในปริมาณครั้งละมากๆ ทำให้แมลงสามารถเพิ่มจำนวนประชากรและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ด้วยความสามารถที่เหนือกว่าสัตว์อื่นดังกล่าว จึงทำให้เราพบเห็นแมลงได้ตลอดเวลา ทุกสถานที่ ทั้งบนบก ในดิน ในน้ำ ตามต้นไม้ บริเวณที่อยู่อาศัย บางชนิดอาศัยอยู่บนร่างกาย มนุษย์ และสัตว์ แมลงบางชนิดสร้างสีสันให้กับโลกเรา ทำให้โลกสดใสน่าอยู่ บางชนิดเป็นอาหารของสัตว์อื่น บางชนิดช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับพืช แต่มีอีกหลายชนิดก่อให้เกิดปัญหาแก่มนุษย์และสัตว์ในด้านสุขภาพ ตลอดจนทำให้ปริมาณและคุณภาพผลผลิตลดลง จากความหลากหลายทั้งชนิดและคุณค่าของแมลงดังกล่าว จึงทำให้แมลง เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญในวงจรห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศ แมลงจัดอยู่ในอาณาจักรสัตว์ (Animal Kingdom) ไฟลัม (Phylum) Arthropoda ชั้น (Class) Insecta หรือ Hexapoda ลักษณะทั่วไปที่เด่นชัดของแมลง คือ ลำตัวแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง มีหนวด 1 คู่ ซึ่งมีลักษณะเป็นป้อง ตัวเต็มวัยมีขา 3 คู่ มีปีก 1 หรือ 2 คู่ หรือบางชนิดไม่มีปีก มีการเจริญเติบโตจากตัวอ่อนเป็นตัวเต็มวัยโดยวิธีการเปลี่ยนรูปร่าง (metamorphosis) โดยทั่วไปมี 4 แบบ ได้แก่

  • Ametabola แมลงในกลุ่มนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ตัวอ่อนเมื่อฟักออกจากไข่จนเติบโตเป็นตัวเต็มวัย จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง แม้จะลอกคราบกี่ครั้งก็ตาม แต่อาจจะมีขนาดตัวแตกต่างจากตัวเต็มวัยบ้าง ได้แก่ แมลงที่มีวิวัฒนาการต่ำในอันดับ Protura, Collembora, Diplura, Archeognatha และ Thysanura
  • Paurometabola sinv Gradual metamorphosis การเปลี่ยนแปลงรูปร่างที่ละน้อย เป็นการเปลี่ยนแปลงโดยที่แมลงมีรูปร่างลักษณะของตัวอ่อน (nymph) และตัวเต็มวัย (adult) เหมือนกัน แต่มีลักษณะบางอย่างที่ต่างกันหรือยังไม่เจริญเต็มที่ เช่น ปีก อวัยวะสืบพันธุ์ ได้แก่ แมลงในอันดับ Orthoptera,m Thysanoptera, Hemiptera, Homoptera
  • Hemimetabola หรือ Incomplete metamorphosia การเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบไม่สมบูรณ์ การเปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะนี้ พบในอันดับของแมลงที่ตัวอ่อน (naiad) อาศัยอยู่ในน้ำโดยใช้เหงือกช่วยหายใจ ในขณะที่ตัวเต็มวัยอยู่บนบกมีปีกและใช้รูหายใจ (spiracle) บริเวณผนังลำตัว ได้แก่ แมลงในอันดับ Odonata และ Ephemeroptera
  • Holometabora หรือ Complete metamorphosis การเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ แมลงส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบนี้ โดยที่ตัวอ่อน (larva) เมื่อฟักออกจากไข่ ก่อนที่จะเจริญเติบโตต่อไปจะลอกคราบ 4-6 ครั้ง จากนั้นเข้าสู่ระยะดักแด้ (pupa) จะไม่กินอาหารและไม่เคลื่อนไหว แมลงจะลอกคราบอีกครั้งจึงเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งจะมีระบบสืบพันธุ์ครบสมบูรณ์ ได้แก่ แมลงในอันดับ Neuroptera, Lepidopter, Coleoptera, Diptera และ Hymenoptera

ความสำคัญของแมลงที่มีต่อพืช

  • เป็นศัตรูพืช ( Pest) ทำลายพืชโดยตรง โดยการกัดกิน เจาะชอนไช หรือดูดกินน้ำเลี้ยง
  • เป็นพาหะนำโรค (Vector) นอกจากทำลายพืชโดยตรงแล้ว ยังสามารถนำโรคมาสู่พืชได้ด้วย
  • เป็นตัวห้ำ (Predator) แมลงที่ช่วยจับแมลงศัตรูพืช
  • เป็นตัวเบียน (Parasite) เป็นตัวเบียนของแมลงศัตรูพืช ซึ่งอาจเบียนในระยะ ไข่ หนอน ดักแด้ หรือตัวเต็มวัย
  • ช่วยผสมเกสร (Pollinator) เช่น ผึ้ง ต่อ แตน ชันโรง ช่วยให้พืชหลายชนิดติดผลได้มากขึ้น
  • เป็นอาหาร (Food) แมลงหลายชนิดเป็นอาหารของพืช

การตั้งชื่อแมลงและการจัดหมวดหมู่แมลง

การตั้งชื่อ (Naming)

ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name)

ชื่อ วิทยาศาสตร์ของแมลงซึ่งถือว่าเป็นชื่อที่สากลยอมรับกันทั่วโลกนั้น ตั้งขึ้นมาภายใต้กฏเกณฑ์การตั้งขื่อสัตว์ระหว่างประเทศ ค.ศ.1985 (International Code of Zoological Nomenclature) ดังที่กล่าวแล้วว่าแมลงเป็นสัตว์ที่มีจำนวนชนิดมาก การเรียกชื่อโดยใช้ชื่อท้องถิ่น (vernacular name) หรือชื่อสามัญ (common name) บางครั้งก่อให้เกิดความสับสนเพราะในแต่ละท้องถิ่นอาจเรียกชื่อแตกต่างกันไป แต่หมายถึงแมลงหรือสัตว์ชนิดเดียวกัน เช่น แมลงปอ เรียกว่า dragonflies หรือ mosquito hawks และในทางกลับกันพบว่าในแต่ละท้องถิ่นเรียกชื่อเหมือนกันแต่หมายถึงสัตว์ต่าง ชนิดกัน เช่น ไรแดง ซึ่งหมายถึงศัตรูพืชชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กมาก มี 8 ขา พบว่าเกษตรกรในหลายท้องที่เรียกศัตรูพืชที่พบว่าไรแดง แต่กลับหมายถึงเพลี้ยไฟ เป็นต้น ในปี ค.ศ. 1785 Carolus Linnaeus นักธรรมชาติวิทยาชาวสวีเดน ซึ่งถือว่าเป็น บิดาแห่งอนุกรมวิธาน มีความเห็นว่าสิ่งมีชีวิตจะต้องแยกออกเป็นหมวดหมู่ตามลักษณะของแต่ละชนิด และมีชื่อเขียนกำกับไว้ ชื่อเหล่านี้ประกอบด้วย 2 คำ คำนำหน้าคือ ชื่อสกุล (generic name) ซึ่งต้องเขียนขึ้นต้นด้วยตัวอักษรตัวใหญ่ ส่วนคำหลังคือ ชื่อชนิด (specific name) ให้เขียนด้วยตัวอักษรตัวเล็กและชื่อเหล่านี้ต้องเขียนด้วยภาษาละติน เป็นตัวเอียงหรือขีดเส้นใต้ เช่น เพลี้ยไฟพริก Scitothrips dorsalis หรือ Scitothrips dorsalis การตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตลักษณะนี้เป็นแบบ Binominal system และในปีเดียวกันนี้ Linnaeus ได้ตีพิมพ์เรื่องเกี่ยวกับการตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตไว้ในหนังสือ Systema Naturae ซึ่งกฏเกณฑ์การตั้งชื่อสัตว์แบบสากลใน ค.ศ.1958 นั้นมีรากฐานและพัฒนามาจากกฎที่ Linnaeus ได้ตั้งไว้

ชื่อสามัญ (Common name)

ถึง แม้ว่าชื่อสามัญจะก่อให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิด แต่ก็มีข้อดีในแง่ของการสื่อสารระหว่างผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับบุคคลในท้อง ถิ่น เช่น แพทย์ นักวิชาการเกษตร อย่างไรก็ตาม มีชื่อสามัญ 2 ชื่อ ที่ใช้สื่อความหมายว่าคือ แมลง , มาเป็นเวลานานและเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก คือ bugs และ flies แต่ทั้งสองคำนี้ยังมีความหมายที่เฉพาะเจาะจงถึงแมลงเฉพาะอันดับอีกด้วย โดย bug ใช้เรียกแมลงในอันดับ Hemiptera และ fly ใช้กับแมลงในอันดับ Diptera ดังนั้นเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงมีการกำหนดการเขียนไว้ ดังนี้ ถ้าต้องการสื่อว่าแมลงตัวที่กล่าวถึงนั้นหมายถึงแมลงที่จัดอยู่ในอันดับ Hemiptera หรือ Diptera ให้เขียนชื่อสามัญนั้นแยกกัน เช่น มวนลำไย stink bug หรือ แมลงวันบ้าน house fly แต่ถ้าเขียน bus และ fly เพื่อหมายถึงแมลงในอันดับอื่นที่ไม่ใช่สองอันดับนี้ ให้เขียนชื่อนั้นๆ ติดกัน เช่น เพลี้ยแป้ง mealybugs ชีปะขาว mayfly

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก หนังสือแมลง การจำแนก และการเก็บตัวอย่าง

โดย ศิริณี พูนไชยศรี และคณะ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร